ปักหมุด 5 วัด เที่ยวงานประเพณีตานก๋วยสลาก สายบุญห้ามพลาด
การทำบุญมีหลากหลายรูปแบบมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญกับพระในตอนเช้า ทำบุญออนไลน์ หรือบริจาคปัจจัยแก่วัด ซึ่งการทำบุญในแต่ละวัดก็มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบันด้วยเช่นกัน ถ้าหากจะพูดถึงการทำบุญที่มีเอกลักษณ์ และถูกขนานว่าเป็นวัฒนธรรมล้านนาแท้ ๆ หลายคนในภาคเหนือคงนึกถึง ประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต) ซึ่งเป็นประเพณีที่ทางภาคเหนือมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังสืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ทำให้เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่น่าสนใจมากในหมู่นักท่องเที่ยวในยุคนี้
ว่าแต่ ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือที่คนภาคกลางเรียกว่า สลากภัต คืออะไร ? วันนี้ siam.rent จะพาทุกคนไปรู้จักประเพณีนี้กัน พร้อมแนะนำสถานที่เที่ยวตานก๋วยสลาก ที่คุณไม่ควรพลาด หากมาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงนี้ จะมีที่ไหนบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
Highlight
- ตานก๋วยสลาก หรือ ทานสลากภัต เป็นหนึ่งในประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนาที่สะท้อนถึงความเชื่อและวิถีชีวิตของชุมชนทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่
- ตานก๋วยสลากจะเริ่ม ตั้งแต่วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ราวเดือนกันยายน) จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนเกี๋ยงหรือวันเกี๋ยงดับ (ราวเดือนตุลาคม)
- ก๋วยสลากจะสานจากไม้ไผ่ซึ่งข้างในถูกห่อหุ้มด้วยใบขมิ้น และใบตอง บรรจุข้าวสารอาหารแห้ง อาหารปรุงสุก เครื่องอุปโภคบริโภค ด้านบนก๋วยสลากจะมีใบหมากพลู ไม้ดอก ไม้ประดับมัดรวมกัน มีเทียนบุหรี่มัดติดไม้เสียบเงินที่เป็นปัจจัย
- ก๋วยสลากที่ทำกันมี 3 แบบ ได้แก่ ก๋วยน้อย, ก๋วยใหญ่ และสลากโชค
- หากอยากสัมผัสประเพณีตานก๋วยสลากเราขอแนะนำ 5 วัดในเชียงใหม่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร, วัดเจ็ดยอด, วัดศรีโสดา, วัดต้นเกว๋น และวัดอุโมงค์
ประเพณีตานก๋วยสลาก คืออะไร ?
ตานก๋วยสลาก หรือ ทานสลากภัต เป็นหนึ่งในประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนาที่สะท้อนถึงความเชื่อและวิถีชีวิตของชุมชนทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงรักษาประเพณีนี้ไว้อย่างยิ่งใหญ่และงดงาม ตานก๋วยสลากเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ และเสริมสร้างบุญกุศลให้แก่ตนเอง และครอบครัว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ก๋วยสลาก”
ตานก๋วยสลาก จัดขึ้นในช่วงไหน ?
ตานก๋วยสลากจะเริ่ม ตั้งแต่วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ราวเดือนกันยายน) จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนเกี๋ยงหรือวันเกี๋ยงดับ (ราวเดือนตุลาคม)
ก๋วยสลาก คืออะไร ?
ก๋วยสลากจะสานจากไม้ไผ่ซึ่งข้างในถูกห่อหุ้มด้วยใบขมิ้น และใบตอง บรรจุข้าวสารอาหารแห้ง อาหารปรุงสุก เครื่องอุปโภคบริโภค ด้านบนก๋วยสลากจะมีใบหมากพลู ไม้ดอก ไม้ประดับมัดรวมกัน มีเทียนบุหรี่มัดติดไม้เสียบเงินที่เป็นปัจจัย ส่วนในก๋วยสลากมีกระดาษเขียนไว้ว่า “สลากก๋วยนี้จัดตานอุทิศไปหาผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว”
ก๋วยสลาก มีกี่ประเภท ?
สำหรับก๋วยสลากที่ทำกันมี 3 แบบ ได้แก่
- “ก๋วยน้อย” ใช้สำหรับอุทิศให้กับบรรพบุรุษ หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะเป็นญาติพี่น้อง เป็นมิตรสหาย หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เคยอยู่ด้วยกันมาก็ได้ ทั้งช้าง ม้า วัว ควาย แมว และสุนัข หรือถ้าไม่ได้ถวายทานให้กับใครเป็นพิเศษ ก็สามารถถวายเอาไว้ภายภาคหน้าก็ได้
- “ก๋วยใหญ่” จะเป็นก๋วยที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ สามารถจุของได้มากกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำบุญอุทิศบุญกุศลไปให้กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว
- “สลากโชค” จะแตกต่างจากก๋วยสองแบบแรกอย่างชัดเจน สลากโชคจะทำเลียนแบบต้นไม้สูงใหญ่ แล้วนำสิ่งของต่างๆ ไปแขวนไว้ เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ถ้วยชาม เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้ง และเงินทอง
ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นอีกหนึ่งประเพณีเนื่องในพุทธศาสนาที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างวัดกับชุมชน และยังสร้างความสามัคคีในหมู่ญาติมิตรสหายอีกด้วย
แนะนำสถานที่เที่ยวประเพณีตานก๋วยสลาก 5 วัด ในเชียงใหม่
ในจังหวัดเชียงใหม่ มีหลายวัดที่จัดงานประเพณี ตานก๋วยสลาก อย่างยิ่งใหญ่และสวยงาม โดยแต่ละวัดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางวัดเป็นที่รู้จักในระดับชุมชน ขณะที่บางวัดมีชื่อเสียงทั่วประเทศ โดยวัดที่จัดงานตานก๋วยสลากในเชียงใหม่ที่เราอยากจะแนะนำมีดังนี้
1. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดที่สำคัญและมีความเก่าแก่ วัดนี้จัดงานตานก๋วยสลากทุกปีอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยความเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางศาสนา นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมทำบุญ และชื่นชมศิลปกรรมล้านนาที่สวยงามได้ทุกวัน หากมาช่วงตานก๋วยสลาก ก็จะเจอกับบรรยากาศล้านนาแท้ ๆ ที่คนเชียงใหม่ มาร่วมทำบุญกัน บอกได้เลยว่า เป็นอีกบรรยากาศที่คุณควรมาสัมผัสซักครั้งในชีวิต
แผนที่: https://maps.app.goo.gl/DLaAKdsi6nGWC5w56
เวลาเปิด-ปิด: 09.00 น. – 18.00 น.
2. วัดเจ็ดยอด (วัดโพธารามมหาวิหาร)
วัดเจ็ดยอดเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญที่จัดประเพณีตานก๋วยสลาก ตั้งอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ บรรยากาศที่สงบเงียบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมและทำบุญ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมความรู้ด้านประวัติศาสตร์และศาสนาอีกด้วย ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ คุ้ม 2 ต่อ
แผนที่: https://maps.app.goo.gl/obHBjH6ktiabBgYp8
เวลาเปิด-ปิด: 06.00 น. – 20.00 น.
3. วัดศรีโสดา
ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ วัดศรีโสดาเป็นอีกวัดที่ชาวเชียงใหม่ให้ความศรัทธา วัดนี้มักจัดงานตานก๋วยสลากในช่วงออกพรรษา นักท่องเที่ยวสามารถทำบุญ และหลังจากนั้นเดินทางขึ้นไปสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพต่อได้เลย
แผนที่: https://maps.app.goo.gl/Jgj8e9dHgZ2RJP7r7
เวลาเปิด-ปิด: 07.00 น. – 17.00 น.
4. วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส)
ตั้งอยู่ในอำเภอหางดง วัดต้นเกว๋นเป็นวัดเก่าแก่ที่มีสถาปัตยกรรมล้านนาแบบดั้งเดิม และสวยงาม วัดนี้จัดงานตานก๋วยสลากอย่างเรียบง่าย แต่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ และความเงียบสงบของวัดในชนบท ใครที่เบื่อชีวิตในเมือง ลองขับออกมาสัมผัสบรรยากาศชนบทในเชียงใหม่ ก็จะได้ฟีลที่ดีไปอีกแบบนะ เราแนะนำเลย
แผนที่: https://maps.app.goo.gl/XB6w88yZqxYBjr559
เวลาเปิด-ปิด: 06.00 น. – 17.00 น.
5. วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)
เป็นวัดที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงบ วัดอุโมงค์จัดประเพณีตานก๋วยสลากทุกปี และยังเป็นแหล่งปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทำบุญพร้อมเดินชมธรรมชาติที่วัดนี้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีชื่อเสียงใน จ.เชียงใหม่มาก ๆ ถ้าไม่ได้แวะมาทำบุญที่วัดนี้ เราบอกเลยว่าพลาดมาก!
แผนที่: https://maps.app.goo.gl/k7Ep5Qsa7hCK6vi38
เวลาเปิด-ปิด: 05.00 น. – 20.00 น.
ตานก๋วยสลากไม่ได้เป็นแค่การทำบุญ แต่ยังเป็นประเพณีที่ช่วยเชื่อมโยงคนในชุมชนให้กลับมาใกล้ชิดกันมากขึ้น นอกจากความเชื่อทางศาสนาแล้ว ยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายแต่มีความหมายลึกซึ้งของชาวล้านนา ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นหรือผู้มาเยือน การได้มีโอกาสร่วมในงานประเพณีนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ และต้องมาสัมผัสเองซักครั้ง
ใครที่อยากเปิดประสบการณ์ทำบุญแบบใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สัมผัสวัฒนธรรมล้านนาแท้ ๆ ต้องห้ามพลาดประเพณีนี้เลย และหากใครกำลังมองหารถเช่า ราคาสุดคุ้ม มีรถให้เลือกเช่ากว่า 20 รุ่น เพื่อไปเที่ยวประเพณีตานก๋วยสลากในภาคเหนือ แวะมาเช่ารถกับ siam.rent ได้เลย สนใจเช่ารถ ติดต่อเรามาได้เลยค่ะ